วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

วงแหวนแห่งไฟ หายนะแห่งภัยธรรมชาติ


วงแหวนแห่งไฟ หายนะแห่งภัยธรรมชาติ


หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ พร้อมกับสึนามิที่สูงขนาด 10 เมตร ถาโถมใส่เมืองชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่นจนราบเป็นหน้ากลอง เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้สร้างความเสียหายอันประเมินค่ามิได้ ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเอง จะเป็นประเทศที่มีระบบ และการเตรียมพร้อมรับมือการเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิที่ดีที่สุดในโลกแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถพ้นภัยพิบัติธรรมชาติอันโหดร้ายครั้งนี้ไปได้

ทันทีที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หลายคนหยิบเอาเรื่องที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ใน "วงแหวนแห่งไฟ" ขึ้นมาพูด และยิ่งได้ทราบข้อมูลว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวกว่า 90% ทั่วโลก เกิดใน "วงแหวนแห่งไฟ" ก็ยิ่งทำให้คนสนใจว่า "วงแหวนแห่งไฟ" คืออะไร และมีประเทศใดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงบ้าง วันนี้ กระปุกดอทคอม ขออาสามาไขข้อข้องใจให้ฟังกันค่ะ

สึนามิ ญี่ปุ่น



วงแหวนแห่งไฟ


สำหรับ "วงแหวนแห่งไฟ" หรือที่เรียกว่า "Pacific Ring of Fire" หรือ "The Ring of fire" นั้น หมายถึงบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า มีความยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร วางตัวพาดผ่านแนวร่องมหาสมุทร แนวภูเขาไฟ และขอบแผ่นเปลือกโลก ไล่ไปตั้งแต่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้ มีประเทศที่อยู่ในพื้นที่ "วงแหวนแห่งไฟ" ทั้งหมด 31 ประเทศ ได้แก่

เบลีซ
โบลิเวีย
บราซิล
แคนาดา
โคลัมเบีย
ชิลี
คอสตาริกา
เอกวาดอร์
ติมอร์ตะวันออก
เอลซัลวาดอร์
ไมโครนีเซีย
ฟิจิ
กัวเตมาลา
ฮอนดูรัส
อินโดนีเซีย
ญี่ปุ่น
คิริบาตี
เม็กซิโก
นิวซีแลนด์
นิการากัว
ปาเลา
ปาปัวนิวกินี
ปานามา
เปรู
ฟิลิปปินส์
รัสเซีย
ซามัว
หมู่เกาะโซโลมอน
ตองกา
ตูวาลู
สหรัฐอเมริกา


การกำเนิดของ "วงแหวนแห่งไฟ" นั้น สืบเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกัน และมุดตัวซ้อนกันในแต่ละทวีปเมื่อหลายล้านปีก่อน คือ

- แผ่นนาซคา ชนกับแผ่นอเมริกาใต้ กลายเป็นเทือกเขาแอนดีส และทำให้เกิดภูเขาไฟหลายแห่ง เช่น ภูเขาไฟโกโตปักซี ประเทศเอกวาดอร์

- แผ่นโคคอสในอเมริกากลาง ชนกับแผ่นอเมริกาเหนือ

- แผ่นฮวนดีฟูกา และแผ่นกอร์ดามุดตัวลงในแผ่นอเมริกาเหนือ และบริติช โคลัมเบีย บริเวณเกิดภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์ ในสหรัฐอเมริกา และครั้งล่าสุดระเบิดไปเมื่อปี ค.ศ.1980

- ทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น บริเวณนี้จึงเกิดภูเขาไฟฟูจิที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

- ทางตอนใต้มีแผ่นเปลือกโลก ขนาดเล็กมากมายติดกับแผ่นแปซิฟิก ทำให้เกิดภูเขาไฟทั้งในนิวกินี ไมโครนีเซียน

นอกจากนี้ "วงแหวนแห่งไฟ" ยังมีแนวต่อไปยังแนวอัลไพน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหวด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นจากเกาะชวา และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย โดยการชนและมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกนี้เอง ทำให้บริเวณ "วงแหวนแห่งไฟ" นี้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในโลก คิดเป็น 90% ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในโลก และยังคิดเป็น 80% ของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นด้วย ดังเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองไครส์เชิร์ต ประเทศนิวซีแลนด์ ตามมาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ล้วนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแนว "วงแหวนแห่งไฟ" เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก ก็จะพบว่า ล้วนเกิดในบริเวณ "วงแหวนแห่งไฟ" แทบทั้งสิ้น โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับแรกได้แก่

อันดับที่ 1 : 22 พฤษภาคม ค.ศ.1960 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ริกเตอร์ ที่เมือง Valdivia ประเทศชิลี

อันดับที่ 2 : 27 มีนาคม ค.ศ.1964 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ ที่อลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา

อันดับที่ 3 : 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งนี้ทำให้เกิดคลื่นสึนามิกระทบมายังประเทศไทย จนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคนในประเทศไทย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากประเทศที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 230,000 คน

อันดับที่ 4 : 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ที่ KamChatka ประเทศรัสเซีย

อันดับที่ 5 : 11 มีนาคม ค.ศ.2011 เกิดแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่พัดถล่มประเทศญี่ปุ่นเสียหายเป็นจำนวนมาก



แผนที่แสดงที่ตั้งภูเขาไฟทั่วโลก


ขณะเดียวกัน นอกจาก "วงแหวนแห่งไฟ" จะเป็นแนวที่เกิดแผ่นดินไหวจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแนวของ "ภูเขาไฟ" ด้วย โดยบริเวณนี้มี "ภูเขาไฟ" ตั้งอยู่ถึง 452 ลูก และคิดเป็น 75% ของภูเขาไฟทั่วโลกที่ยังคุกรุ่นอยู่ โดยภูเขาไฟที่ตั้งอยู่แนวนี้และมีชื่อเสียง เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น , ภูเขาไฟวิลลาร์ริกา ประเทศชิลี , ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ,ภูเขาไฟพินาตูโบ ภูเขาไฟมายอน ในประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งภูเขาไฟเมราปี ในประเทศอินโดนีเซียด้วย

และนี่ก็คือเรื่องราวของ "วงแหวนแห่งไฟ" หรือ "Ring of Fire" ที่เคยสร้างภัยพิบัติให้มนุษย์โลกมาแล้วหลายต่อหลายครา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังทรงพลังที่จะสร้างความหายนะจากภัยธรรมชาติให้กับมนุษย์ต่อไปอีกเรื่อย ๆ

ที่มา
http://hilight.kapook.com/view/57074

แกนโลกเคลื่อน ความหวั่นวิตกของอนาคตที่ควรรู้



‘แกนโลกเคลื่อน’ ความหวั่นวิตกของอนาคตที่ควรรู้...

หมู่เกาะโซโลมอน 7.1 ริกเตอร์ (3 มกราคม 2553) เฮติ 7.0 ริกเตอร์ (12 มกราคม 2553) ปาปัวนิวกินี 6.2 ริกเตอร์ (1 กุมภาพันธ์ 2553) แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 5.9 ริกเตอร์ (4 กุมภาพันธ์ 2553) เกาะริวกิว ญี่ปุ่น 7.0 ริกเตอร์ (26 กุมภาพันธ์ 2553) ชิลี 8.8 ริกเตอร์ (27 กุมภาพันธ์ 2553) ไต้หวัน 6.4 ริกเตอร์ (4 มีนาคม 2553) นี่คือเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เมื่อไม่นานบนโลกนี้ และอีกหลายประเทศทางใต้ของประเทศไทยอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ยังคงเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง...

ล่าสุดบ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 ในขณะที่ทุกคนบนโลกใช้ชีวิตตามปกติ ก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาเยือนโลกใบนี้อีกครั้ง สถานที่เกิดเหตุห่างจากจังหวัดมิยากิ หมู่เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น 130 กิโลเมตร และห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 380 กิโลเมตร

แรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบทำให้เกิดคลื่นยักษ์หรือสึนามิสูงกว่า 10 เมตร ซัดถล่มบริเวณพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดมิยากิได้รับความเสียหายรุนแรงในรอบ 140 ปี ถึงขนาดทำให้เกาะฮอนชูเขยื้อน 8 ฟุต และทำให้แกนโลกเคลื่อน 10 กว่าเซนติเมตร (ซึ่งเป็นแกนโลกสมมติ) เหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินชาวญี่ปุ่นอย่างมหาศาล

หลายสมมติฐานตั้งข้อสังเกตว่า หากแกนโลกเคลื่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งอากาศ เวลา และอื่นๆ ไปดูกันว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเขาได้คาดการณ์ไว้ว่าอย่างไรบ้าง




แกนโลกเคลื่อนเรื่อยๆ อยู่แล้ว

เบนจามิน ฟง เจา นักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์เที่ยวบินอวกาศ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวไว้ว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศชิลีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ทำให้แกนของโลกเอียงไปจากตำแหน่งเดิม แม้จะไม่สำคัญเท่าใดนัก แต่ก็เปลี่ยนไปจากตำแหน่งเดิมอย่างถาวร

แล้วยังส่งผลให้ระยะเวลาในหนึ่งวันสั้นหรือช้าลงไป 1.26 ไมโครวินาที (1 ไมโครวินาที เท่ากับ 1 ในล้านวินาที)

และแผ่นดินไหวที่ชิลี 8.8 ริกเตอร์ ทำให้แกนโลกเอียงไป 8 เซนติเมตร จึงทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นและโลกหนาวเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น

ผลที่ตามมาก็คือชายฝั่งทะเลทั่วโลกจมน้ำเพิ่มขึ้นทุกปี ฝนตกมากนานผิดปกติในแต่ละพื้นที่ ดินบนภูเขาพังทลายทับหมู่บ้าน และน้ำท่วมนานนับเดือน เพราะน้ำทะเลเอ่อสูงดันน้ำในแม่น้ำไว้

ซึ่งก่อนและหลังจากแผ่นดินไหว ก็มีเหตุธรรมชาติที่เกิดมาแล้วทั่วโลก ที่เป็นสิ่งบ่งชี้หรือว่าเตือนมนุษย์โลกแล้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า แกนโลกจะเอียงหนึ่งครั้งในทุก 40,000 ปีเศษๆ

หากแกนโลกพลิก

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนของแกนโลก หากเคลื่อนไปมากจนเกิดปรากฏการณ์แกนโลกพลิกตัว ซึ่งทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration - NASA) (นาซา)เคยนำคำพูดที่น่ากลัวมากล่าวถึงในที่สาธารณะเกี่ยวกับการพลิกกลับขั้วโลก จะทำให้คุณสมบัติของแม่เหล็กของโลกอ่อนแอและเบี่ยงเบนไป การพลิกกลับเกี่ยวกับขั้วของโลกและดวงอาทิตย์เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาที่จริงดังต่อไปนี้

- ระบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากจะทำงานผิดปกติ (ระบบขีปนาวุธ ,computer)

- เกิดการอพยพของฝูงสัตว์ เช่น นก หรือปลาวาฬ ทำให้สูญเสียทิศทางและอื่นๆ

- ระบบภูมิคุ้มกันโรคในบรรดาสัตว์รวมถึงมนุษย์จะทำให้อ่อนอย่างมาก

- ทำให้เกิดภูเขาไฟเพิ่มขึ้น, เกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก แผ่นดินไหว และแผ่นดินถล่ม

- สนามแม่เหล็กโลก (Magnetosphere) จะอ่อนแอลง และการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์จะเพิ่มปริมาณถึงระดับอันตราย ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังตามมา ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

- กลุ่มวัตถุในอวกาศที่มีเส้นผ่านมากมายจะเฉียดเข้าใกล้โลกได้ง่ายขึ้น

- แรงดึงดูดของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น เมื่อแกนโลกเกิดการพลิกตัว

อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ แต่ไม่ครบถ้วน จะสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและความหวั่นวิตกโดยไม่จำเป็น กรณีแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ติดตามด้วยข่าวแกนโลกเคลื่อนที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นและความหวั่นวิตกได้อย่างมีสีสัน

แต่ จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้

“เพราะถ้ามันเปลี่ยน ตำแหน่งดาวต่างๆ ที่เราเห็นในตอนกลางคืน เราจะไม่เห็นมันอยู่ในตำแหน่งเดิม เพราะมุมแกนโลกมันอ้างอิงกับระบบนอกโลก เงาของดวงอาทิตย์ในแต่ละฤดูกาลก็จะเปลี่ยนไป สุริยวิถีก็จะเปลี่ยน ที่เราจะเห็นคือ เงาของดวงอาทิตย์จะไม่คงอยู่ที่เดิม เพราะเราจะใช้วิธีการดูเงาบอกเวลามาตั้งแต่สมัยก่อน”

ไม่ใช่แค่นั้น ถ้าแกนโลกเคลื่อนจริงตามตัวเลขที่เป็นข่าว ฤดูกาล การขึ้น-ลงของน้ำจะเปลี่ยนไปทันที และนั่นอาจหมายถึงหายนะของโลกไปแล้ว อาจารย์จันทร์เพ็ญ อธิบายต่อว่า

“การเกิดแผ่นดินไหวจะเกิดที่เปลือกโลก การเปลี่ยนแปลงจะเกิดที่เปลือกโลก ไม่ได้กระทบไปถึงตำแหน่งการวางตัวของโลกในระบบใหญ่ คือมันเป็นไปได้ยากมาก และก็มีข่าวทำนองนี้ออกมาหลายครั้ง ตั้งแต่แผ่นดินไหวที่เฮติว่าเคลื่อนเป็น 10 องศา ซึ่งมันมหาศาลเลยนะคะ ผลกระทบเยอะมาก คุยๆ กันในหมู่อาจารย์ก็พูดกันว่าเป็นไปไม่ได้”

ถามว่าจะมีอะไรทำให้แกนโลกเคลื่อนได้ อาจารย์จันทร์เพ็ญบอกว่า ต้องใช้พลังงานที่มากกว่าแผ่นดินไหว เช่น การพุ่งชนของอุกาบาตจากนอกโลก เนื่องจากวัตถุที่มีการหมุนจะมีสมดุลของมันอยู่ การจะทำให้เสียสมดุลจะต้องมาจากภายนอก ถ้าอยู่ข้างในจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของตัวมันเอง

ส่วนข้อมูลที่มักได้ยินว่า โดยปกติแกนโลกก็เคลื่อนอยู่แล้วตามธรรมชาติ ก็น่าจะเป็นความเข้าใจสับสนระหว่างแกนโลกกับแกนแม่เหล็กโลก

“ข่าวที่ว่าแกนโลกมีการเคลื่อนอยู่ตลอด จริงๆ แล้วคือแกนแม่เหล็กไฟฟ้าของโลก ซึ่งเกิดจากโลหะเหลวภายในโลก ภายใต้อุณหภูมิสูงๆ ในเปลือกโลกและมีการไหลวน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าและผลิตสนามแม่เหล็กโลกขึ้นมา โดยปกติแล้วมันจะกลับทิศของขั้วเหนือ-ใต้อยู่บ้าง ซึ่งปัจจุบันนี้มันก็ไม่ตรงกับแกนหมุนของโลก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แกนแม่เหล็กเคลื่อนอาจจะเป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว เพราะการที่เปลือกโลกมันเคลื่อนเนื่องจากมีการไหลวนของของเหลวภายในเปลือกโลก”

เช่นเดียวกันกับ วรวุฒิ ตันติวนิช อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี ที่อธิบายถึงข้อมูลที่หลายคนเข้าใจว่า แกนโลกนั้นเคลื่อนที่ จริงๆ เป็นความเข้าใจผิด เพราะที่เคลื่อนคือแกนโลกสมมติต่างหาก

"เรื่องแกนโลกที่ทำให้โลกหมุนกับแกนโลกสมมตินี้ มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะแกนโลกสมมติได้มาจากการใช้ดาวเทียมจีพีเอส เพื่อคำนวณหารูปทรงของโลก เพราะฉะนั้น ถ้ามันเปลี่ยนไปนิดเดียวก็ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นเลย ขณะที่แกนโลกจริง มันต้องเอียงอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่เอียงก็ไม่มีฤดู

"แต่สาเหตุที่เขาต้องประกาศออกมา เพราะถ้าอะไรมันเคลื่อนไปนิดหนึ่ง ก็จะทำให้สมมาตรของโลก ซึ่งภาษา’รางวัด’ ของ เรียกว่า จิออย มันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเวลาที่แผ่นดินไหว เปลือกโลกมันเคลื่อน น้ำหนักมันเคลื่อน ขยับตัวไป ลักษณะภูมิประเทศมันเปลี่ยนไป ก็ทำให้แกนโลกสมมตินี้ขยับไปนิดหนึ่ง แล้วที่สำคัญแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทุกครั้ง นาซาจะต้องคำนวณว่า แกนโลกสมมติเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อจะปรับตัวจิออย จะได้อ่านค่าจีพีเอสได้เหมือนเดิม"



ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแกนโลกสมมติหรือแกนโลกจริงจะเอียงหรือเคลื่อนที่ไปเท่าไหร่แล้ว แต่ความเป็นจริงในตอนนี้ก็คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันน่าหวาดกลัวของเหล่ามนุษยชาติได้เกิดขึ้นจริง และเราก็ได้เห็นกันบ่อยๆ แล้ว ซึ่งนอกจากจะเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้วยังเกิดขึ้นในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ‘2012 วันสิ้นโลก’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว หรือสึนามิ หรือภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘2022 Tsunami สึนามิ วันโลกสังหาร’ นั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ก็เตรียมตัวและเตรียมใจรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า 'ภัยธรรมชาติ' ไว้แล้วเสมอ แล้วคุณล่ะเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่เริ่มผิดปกติที่กำลังคืบคลานมาเยี่ยมคุณและครอบครัวในทุกๆ ฤดูกาลนี้อย่างไรบ้าง


ที่มา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000034633

หมั่นทำดีมากๆ คุณจะรอดเอง

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

วันที่ 19 มีนาคม นี้ จะเกิดภัยร้ายแรงที่เกินคาดเดา


จริงหรือที่ว่า...วันที่ 19 มีนาคม นี้ จะเกิดภัยร้ายแรงที่เกินคาดเดา

ในวันพระจันทร์เต็มดวง หากเราได้แหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้า ใครหลาย ๆ คนก็คงจะชื่นชอบภาพดวงจันทร์ดวงกลมส่องสว่างตรงหน้าจนเผลอชื่นชมมันอยู่นานสองนาน แต่สำหรับในสัปดาห์หน้านี้ ดูเหมือนว่าคนที่ชอบมองพระจันทร์เต็มดวงอาจจะต้องใช้เวลาชื่นชมกับความงดงามของมันมากกว่าเดิมสักหน่อย เมื่อปรากฎการณ์ดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 19 ปี กำลังจะอุบัติขึ้นในค่ำคืนวันที่ 19 มีนาคมนี้

เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในค่ำคืนวันที่ 19 มีนาคมที่จะถึงนี้ คนบนโลกจะได้เห็นปรากฎการณ์ "ซูเปอร์มูน" หรือดวงจันทร์ดวงใหญ่ เนื่องจากเป็นค่ำคืนที่ดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 19 ปี โดยคาดว่ามันจะโคจรห่างจากโลกเพียง 356,577 กิโลเมตรเท่านั้น จากปกติที่โคจรในระยะห่างเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร ประจวบเหมาะกับค่ำคืนนั้น ยังเป็นค่ำคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงอีกด้วย ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงที่เคยเห็นถึง 14% และดวงจันทร์ก็จะส่องสว่างกว่าค่ำคืนดวงจันทร์เต็มดวงทั่วไปถึง 30% นอกจากนี้ มันยังส่งผลให้โลกเกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่าปกติ กล่าวคือ ระยะเวลาที่น้ำขึ้นก็ขึ้นสูงมาก ขณะที่เมื่อน้ำลง น้ำก็จะลดลงมากกว่าปกติเช่นกัน

ถึงแม้ว่าปรากฎการณ์ ซูเปอร์มูน จะทำให้ค่ำคืนวันที่ 19 มีนาคมเป็นค่ำคืนที่งดงามสว่างไสวกว่าทุก ๆ คืนอย่างไร แต่ผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก กลับไม่อยากให้ค่ำคืนนั้นมาถึง ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกในระยะที่ใกล้ผิดปกติ แรงดึงดูดของมันอาจจะส่งผลให้เกิดหายนะบางอย่างขึ้นบนโลกเช่นกัน โดยในขณะนี้ ประเด็นเรื่องดวงจันทร์ในคืน 19 มีนาคม กำลังถูกพูดถึงกันในวงกว้าง หลังจากมีข่าวลือออกมาว่า การที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกครั้งนี้ อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหว พายุพัดถล่ม สึนามิ หรือภูเขาไฟระเบิดก็เป็นได้ เหมือนกับที่มันได้เคยเกิดขึ้นค่ำคืนซูเปอร์มูนหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ พบว่า ในปี ค.ศ.1955, 1974, 1992 และ 2005 ได้เคยปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนมาแล้ว และในปีดังกล่าวก็มีภัยพิบัติ และสภาพอากาศที่เลวร้ายเกิดขึ้นบนโลกในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนพอดี

จากรายงานภัยพิบัติระบุว่า ในปี ค.ศ.1938 พายุเฮอริเคนได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับซูเปอร์มูน, ในปี ค.ศ.1955 ได้เกิดน้ำท่วมในฮันเตอร์วัลเลย์ ในออสเตรเลียในช่วงซูเปอร์มูนเช่นกัน และในปี ค.ศ.1974 ซูเปอร์มูนก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับพายุไซโคลนเทรซี่ ที่สร้างความเสียหายมหาศาลในเมืองดาร์วิน ออสเตรเลีย ส่วนในปี ค.ศ.2005 ก่อนที่จะเกิดปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนเพียงไม่กี่วัน ก็มีเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคนไปในช่วงเวลานั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ทำให้หลายคนเชื่อว่า มันมีความเป็นไปได้ที่การเกิดซูเปอร์มูนในสัปดาห์หน้านี้จะมาพร้อมกับภัยพิบัติบางอย่างเช่นกัน

และนอกจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ความเป็นไปได้ของการเกิดภัยพิบัติในช่วงซูเปอร์มูนมีมากขึ้นไปอีก นั่นคือ เคน ริง นักโหราศาสตร์เจ้าของฉายา "มูนแมน" ที่พยากรณ์อากาศและการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ บนโลกด้วยดวงจันทร์ ได้ออกมาเตือนว่า ในช่วงค่ำคืนซูเปอร์มูนที่จะถึงนี้ อาจเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไครซท์เชิร์ช นิวซีแลนด์ขึ้นอีกครั้ง และอาจมีความรุนแรงมากกว่าเดิม โดย เคน ริง ได้ออกมาเปิดเผยคำทำนายดังกล่าว หลังจากที่เขาเคยโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ในวัน ที่ 14 กุมภาพันธ์ เพื่อเตือนว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในไครซท์เชิร์ช ระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะวันที่ 18 ในเมืองไครซท์เชิร์ช หรืออาจคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 3 วัน ซึ่งหลังจากเผยแพร่คำทำนายได้เพียง 1 สัปดาห์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวก็ได้เกิดขึ้นจริงในเมืองไครซท์เชิร์ชตามคำทำนายของเขา โดยเกิดขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ด้านนายเดวิด ฮาร์แลนด์ นักประวัติศาสตร์อวกาศได้ออกมาเปิดเผยว่า ดวงจันทร์ไม่ได้มีอิทธิพลถึงขั้นที่จะทำให้โลกเกิดภัยพิบัติได้ขนาดนั้น มันจะส่งผลกระทบเพียงแค่ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่าที่เคยเป็นเท่านั้น จะไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดแต่อย่างใด แต่หากเกิดภัยพิบัติใด ๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ก็คงเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดซูเปอร์มูนเท่านั้น ไม่ได้มาจากอิทธิพลของดวงจันทร์อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกไม่เท่ากันในแต่ละคืน เพราะไม่ได้โคจรรอบโลกเป็นวงกลม ทำให้แต่ละเดือน จะมีช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด หรือที่เรียกว่า Perigee ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดในระยะห่างประมาณ 363,104 กิโลเมตร และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรห่างโลกมากที่สุด หรือ Apogee อยู่ที่ระยะห่างประมาณ 405,696 กิโลเมตร แต่ช่วงเวลาที่มันโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด และยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงด้วย จะมีให้เห็น 2-3 ปีต่อ 1 ครั้งเท่านั้น แต่ในปีนี้ ดวงจันทร์จะอยู่ในจุดที่ใกล้กว่าทุก ๆ ครั้ง ในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ซูเปอร์มูนที่กำลังจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 มีนาคมนี้ จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าจับตาดูมากเลยทีเดียว

ที่มา
http://hilight.kapook.com/view/56935

ปลานับล้านตายปริศนาในแคลิฟอร์เนีย


อีกครั้ง! ปลานับล้านตายปริศนาในแคลิฟอร์เนีย

เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพี (AP) รายงานว่า ปลาเล็ก ๆ นับล้านตัวลอยตายเกลื่อนบริเวณชายฝั่งเรดอนโด ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนสาเหตุการตายยังคงเป็นปริศนา

รายงานระบุว่า เหตุการณ์ปลานับล้านตายเกลื่อนปริศนานี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงคืนวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา บริเวณชายฝั่งเรดอนโด ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งอยู่ห่างจากนครลอสแองเจลิสไปประมาณ 35 กิโลเมตร โดยปลาที่ลอยตายเป็นจำนวนนับล้านนี้ เป็นปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตัก ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ซึ่งคลื่นลมได้พัดพวกมันขึ้นมาลอยอยู่บริเวณท่าเรือคิงฮาร์เบอร์ สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นอย่างมาก

ส่วนสาเหตุการตายของปลาเล็ก ๆ พวกนี้ ยังไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุได้ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า อาจมาจากภาวะขาดอ็อกซิเจนก็เป็นได้ โดยนายสเตซี่ กาบรีเอลลี่ ผู้ประสานงานทางทะเลแห่งท่าเรือคิงฮาร์เบอร์ ได้เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ว่า ปลานับล้านพวกนี้อาจพยายามหนีกระแสน้ำที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสน้ำนี้ ทำให้เกิดการสะสมของสาหร่ายในน้ำ และทำให้ปลาขาดอ็อกซิเจนจนตายในที่สุด และถูกคลื่นลมพัดพวกมันเข้ามาบริเวณชายฝั่งดังกล่าว

ส่วนทางด้าน แอนดริว ฮักแกน เจ้าหน้าที่จากกรมการสัตว์น้ำแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ได้กล่าวไปในทางเดียวกันว่า ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุการตายของปลาที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ ภาวะการขาดอ็อกซิเจน เพราะไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีต่าง ๆ เลย แต่อย่างไรก็ดี ทางกรมการสัตว์น้ำได้นำตัวอย่างปลาที่ตายไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงแล้ว ส่วนปลานับล้านตัวที่ลอยเกลื่อนอยู่บริเวณท่าเรือ จะมีการจัดการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตอนนี้เรือไม่สามารถเคลื่อนตัวออกไปจากฝั่งได้ และเริ่มมีกลิ่นคาวของปลาอบอวลไปทั่วบริเวณแล้ว

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก สัตว์หลายชนิดตายปริศนา จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุการตายของพวกมันได้ และที่น่าตกใจมากที่สุด คือ เหตุการณ์สัตว์ตายปริศนานี้เริ่มพบเห็นได้บ่อยขึ้น และในแต่ละครั้งก็มีสัตว์ตายเป็นจำนวนนับพันไปถึงล้านตัว โดยล่าสุด เหตุการณ์สัตว์ตายปริศนานี้เกิดขึ้นทั่วโลกในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งตลอดช่วงเวลานั้น ได้มี นก ปลา ปู และสัตว์น้ำอีกหลายชนิดตายเกลื่อนทั่วโลก รวมแล้วเป็นจำนวนหลายล้านตัวเลยทีเดียว

ที่มา
http://hilight.kapook.com/view/56887

บทความที่ได้รับความนิยม